ศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร พร้อมสนับสนุนทีมแพทย์รับสถานการณ์ แนะนำประชาชนในพื้นที่ ฯ
ดูแลสุขภาพหากเกิดเหตุฉุกเฉิน โทร 1646 ตลอด 24 ชั่วโมง
นพ.เพชรพงษ์ กำจรกิจการ ผู้อำนวยการศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) เปิดเผยว่า สถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 13 มกราคม นี้ กลุ่มผู้ชุมนุมได้มีการตั้งเวทีการชุมนุม 7 จุด และมีการปิดถนนหลายเส้นทาง ศูนย์เอราวัณจึงต้องใช้แผนเอราวัณ 2 ซึ่งเป็นแผนที่ใช้บุคลากร ทรัพยากร และหน่วยงาน รวมถึงเครือข่ายทางการแพทย์ทั้งหมดในเขตกรุงเทพมหานคร โดยมี โรงพยาบาลในเครือข่ายกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงกลาโหม โรงพยาบาลตำรวจ โรงพยาบาลเอกชน รวมทั้งมูลนิธิต่างๆ ร่วมมือกัน ซึ่งทางศูนย์เอราวัณมีการกำหนดจุดให้บริการทางการแพทย์ 22 จุด ได้แก่ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สะพานผ่านฟ้า หอศิลป์ สถานีรถไฟหัวลำโพง วัดหัวลำโพง ถนนสีลม(บางรัก) ถนนสาทร แยกอโศก แยกอโศก –เพชรบุรี แยกรัชพระราม ประตูน้ำ ชิดลม ปากซอยทองหล่อ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สามย่าน อังรีดูนังต์ แยกศาลาแดง แยกราชประสงค์ เยาวราช เฉลิมเผ่า ห้าแยกลาดพร้าว และโซนพื้นที่1(เขตดุสิต – เขตพระนคร) ในเบื้องต้นทางศูนย์เอราวัณจัดทีมช่วยเหลือ 30 หน่วยเพื่อเข้าไปในพื้นที่ และยังมีทีมที่คอยสนับสนุนเตรียมพร้อมอยู่ภายนอกพื้นที่การชุมนุมอีกด้วย
ส่วนประชาชนที่อยู่ในเขตพื้นที่ที่มีการชุมนุม นพ.เพชรพงษ์ กล่าวว่า อันดับแรกควรออกจากพื้นที่การชุมนุมแต่ถ้าออกไม่ได้ก็ควรปิดบ้านให้เรียบร้อย ในกรณีที่มีการใช้แก๊สน้ำตา ควรปิดแอร์ภายในอาคารเพื่อป้องกันการดูดอากาศจากภายนอกเข้ามาภายในอาคาร ถ้าอยู่กลางแจ้ง ควรอยู่เหนือลมเพื่อป้องกันการสัมผัสแก๊สน้ำตา แต่ถ้าโดนแก๊สน้ำตาให้ใช้น้ำสะอาดล้างโดยเฉพาะบริเวณ ตา จมูก และปาก และควรเปลี่ยนเสื้อผ้าที่สัมผัสแก๊สน้ำตา ส่วนในกรณีที่มีการใช้อาวุธ ควรหาที่กำบังที่มิดชิดเช่น กำแพงที่เป็นอิฐหรือปูน หากประชาชนเกิดข้อสงสัยหรือต้องการคำปรึกษาทางการแพทย์ในสถานการณ์การชุมนุมสามารถติดต่อศูนย์เอราวัณได้ที่ เบอร์ 1646 ตลอด 24 ชั่วโมง
สุดท้ายนี้ นพ.เพชรพงษ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า เหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 13 มกราคม นี้ ประชาชนควรติดตามข่าวสารให้ดีเพื่อเตรียมตัวเองให้พร้อมที่จะรับมือกับเหตุการณ์ต่างๆที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทางด้านร่างกายควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ รวมทั้งปัจจัยการดำรงชีวิตต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น อาหาร น้ำดื่ม เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค ถ้าไม่จำเป็นควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่ที่มีการชุมนุมทางการเมือง